รัชกาลเมจิ (ค.ศ. 1868–1912) ของ จักรวรรดิญี่ปุ่น

ดูบทความหลักที่: ยุคเมจิ และ การฟื้นฟูเมจิ

การฟื้นฟูเมจิ (การฟื้นฟูพระราชอำนาจ)

จักรพรรดิเมจิ, จักรพรรดิญี่ปุ่น (รัชกาลที่ 122) ทรงฉลองพระองค์เยี่ยงอย่างพระมหากษัตริย์ยุโรปตะวันตก สะท้อนถึงการพัฒนาประเทศตามแบบตะวันตกในยุคสมัยเมจิสมาชิกทูตที่สำคัญในคณะทูตอิวาคูระ มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น จากซ้ายไปขวา: คิโดะ ทากาโยชิ, ยามากูชิ มาซูกะ, อิวาคูระ โทโมะมิ, อิโต ฮิโรบูมิ, โอกูโบะ โทชิมิจิ

หลังสิ้นสุดสงครามโบชิน กลุ่มพันธมิตรที่นิยมระบอบจักรพรรดิ แคว้นโชชูและแคว้นซัตสึมะผนึกกำลังกันล้มล้างระบอบโชกุนแห่งรัฐบาลเอโดะและระบบซามูไรลง เป็นการสิ้นสุดระบอบโชกุนในที่สุด ขณะเดียวกันได้มีการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์ (Taisei Hōkan) หรือการถวายพระราชอำนาจคืนแก่พระจักรพรรดิ จักรพรรดิเมจิได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากเกียวโตไปยังเอโดะแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียว

บทบัญญัติสัตยาธิษฐาน ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนในการครองราชย์ของจักรพรรดิเมจิแห่งญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1868 คำสาบานได้ระบุจุดมุ่งหมายหลักและแนวทางการปฏิบัติที่จะต้องปฏิบัติตามในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิเมจิซึ่งเป็นเวทีทางกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยแบบชาติตะวันตกของญี่ปุ่น[13]

รัฐบาลใหม่ได้ยกเลิกระบอบศักดินาสวามิภักดิ์และมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ในกรุงโตเกียว มีการสถาปนาสภานิติบัญญัติในสมเด็จพระจักรพรรดิขึ้นมาตามแบบอย่างของรัฐสภาอังกฤษ อันประกอบด้วยสภาขุนนาง (สภาสูง) และสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยได้ เนื่องจากอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองส่วนใหญ่อยู่ที่เหล่าขุนนางในสภาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะเก็นโรเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลที่สุดในระบบการเมือง

การพัฒนาชาติแบบตะวันตก

ฟุคุซาวะ ยูคิจิ หนึ่งในนักปราชญ์และนักเขียนของญี่ปุ่น ผู้สนับสนุนให้ญี่ปุ่นพัฒนาชาติแบบยุโรป

ญี่ปุ่นได้เริ่มส่งบุคคลากรไปเรียนรู้ศึกษาดูงานชาติตะวันตก โดยแต่งตั้งคณะทูตอิวาคูระในปี ค.ศ. 1871 คณะทูตดังกล่าวมีหน้าที่ภารกิจเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเจรจาแก้ไขยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกัน กับประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปที่ญี่ปุ่นเคยถูกบังคับให้ทำในช่วงรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะและเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจและสังคมตะวันตกเพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศญี่ปุ่น

นักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายคนภายใต้การคุกคามอย่างต่อเนื่องของการลอบสังหารจากศัตรูทางการเมืองของพวกเขา ได้มีอิทธิพลในการชนะการสนับสนุนให้ญี่ปุ่นพัฒนาเดินตามแบบตะวันตก นักเขียนหนึ่งคนคือ ฟุคุซาวะ ยูคิจิ ซึ่งมีผลงานรวมถึง "เงื่อนไขในตะวันตก" "ดัตสึอะรน" และ "โครงร่างของทฤษฎีอารยธรรม" ซึ่งมีรายละเอียดของสังคมตะวันตกและปรัชญาของเขาเอง ในช่วงเวลาการฟื้นฟูเมจิ อำนาจทางทหารและเศรษฐกิจได้รับการเน้นย้ำ ความแข็งแกร่งทางทหารกลายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศและความมั่นคง จักรวรรดิญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกเพียงมหาอำนาจของโลกและเป็นกำลังสำคัญในเอเชียตะวันออกในเวลาประมาณ 25 ปีอันเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจ

ความเป็นตะวันตกแบบฉับพลันเมื่อมีการนำมาใช้จะเปลี่ยนไปเกือบทุกด้านของสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่ การทหาร, อาวุธ, ศิลปะ, การศึกษา, มารยาท, แฟชั่น, สุขภาพ, ความยุติธรรม, การเมือง, ภาษา ฯลฯ รัฐบาลญี่ปุ่นส่งนักเรียนไปยังประเทศตะวันตกเพื่อสังเกตและเรียนรู้การปฏิบัติของพวกเขาและจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ" ในหลายสาขาเพื่อมาญี่ปุ่นเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ตัวอย่างเช่นระบบการพิจารณาคดีและรัฐธรรมนูญมีการจำลองในส่วนของปรัสเซียเป็นส่วนใหญ่

การปฏิรูปการเมือง

ดูบทความหลักที่: รัฐธรรมนูญเมจิ
จักรพรรดิเมจิทรงเปิดการประชุมสภาแบบตะวันตก

แนวคิดของรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างรุนแรงทั้งภายในและภายนอกรัฐบาลตั้งแต่เริ่มต้นรัฐบาลเมจิ การร่างรัฐธรรมนูญสมัยเมจินั้นไม่ได้เป็นการเรียกร้องจากเบื้องต่ำหรือชนชั้นสามัญขึ้นมา แต่เป็นการเรียกร้องของหมู่ปัญญาชน ซึ่งจัดเป็นชนชั้นสูงในสังคมญี่ปุ่น ขณะเดียวกันเจตจำนงของการฟื้นฟูพระราชอำนาจสมัยเมจิตือ การสร้างอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชขององค์จักรพรรดิขึ้นมาปกครองประเทศ แนวความคิดของอำนาจอธิปไตยของปวงชนแบบระบอบตะวันตกจึงดูขัดกันกับอำนาจอธิปไตยขององค์จักรพรรดิแบบญี่ปุ่น

รัฐธรรมนูญได้ถูกยอมรับความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงและความทันสมัยหลังจากยกเลิกตำแหน่งระบบโชกุนแล้ว:

พวกเรา,ผู้สืบทอดบัลลังก์ที่เจริญรุ่งเรืองจากบรรพชนรุ่นก่อนของเรา, ทำการอย่างนอบน้อมและสาบานกับผู้ก่อตั้งจักรวรรดิของบ้านเกิดของเราและแก่บรรพบุรุษของเราคนอื่น ๆ, ในการดำเนินนโยบายที่ยิ่งใหญ่นั้นครอบคลุมทั้งสวรรค์และโลก, เราจะยังคงรักษาและทะนุบำรุงรัฐบาลในรูปแบบโบราณ... ในการพิจารณาแนวโน้มความก้าวหน้าของการดำเนินการของมนุษย์และควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของอารยธรรม, เราเห็นว่าสมควรเพื่อให้ความกระจ่างและชัดเจนต่อคำแนะนำที่ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิของบ้านเกิดของเราและผู้ก่อตั้งบรรพบุรุษคนอื่นของเรากำหนดไว้เพื่อสร้างกฎหมายพื้นฐาน...

เจ้าชายยามางาตะ อาริโตโมะ, ทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสองสมัย พระองค์เป็นหนึ่งในผู้ออกแบบพัฒนาหลักของฐานทัพทหารและการเมืองของญี่ปุ่นยุคแรก

จักรวรรดิแบบตะวันตกได้ถูกก่อตั้งขึ้น, ใช้ชื่อว่า จักรวรรดิญี่ปุ่น โดยนิตินัย, หลังการลงพระปรมาภิไธยบังคับใช้ รัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญดำเนินโครงสร้างทางการเมืองของจักรวรรดิอย่างเป็นทางการและให้อำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบมากมายแก่องค์จักรพรรดิ

มาตรา 4. ถือว่าจักรพรรดิทรงเป็นประมุขของประเทศ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจและที่เคารพสักการะ ทรงมีความศักดิ์สิทธิ์ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้มาตรา 6. จักรพรรดิทรงมีสิทธิ์ยับยั้งกฎหมายใดๆที่สภาล่างเสนอมาได้ ทรงสามารถแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและทรงยุบสภาเมื่อใดก็ได้ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีมาตรา 11. จักรพรรดิทรงใช้อำนาจสูงสุดทั้งการปกครองและการทหารผ่านคณะรัฐมนตรี ทรงเป็นจอมทัพกองทัพบกและกองทัพเรือ[14]Count Kentaro Kaneko, a diplomat in Meiji period Japan, renowned for his work on the Meiji Constitution

ในปี ค.ศ. 1890, สภาไดเอท ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อรัฐธรรมนูญเมจิ สภาประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรและสภาขุนนางญี่ปุ่น ทั้งสองสภาเปิดที่นั่งสำหรับชาวอาณานิคมเช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่น สภาไดเอทของจักรพรรดิยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่ง ค.ศ. 1947

พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ

นิทรรศการอุตสาหกรรมโตเกียว ปี ค.ศ. 1907สภาพเมืองยามางาตะ ปี ค.ศ. 1881

ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นตกลงใจและตัดสินใจที่จะสร้างประเทศให้ยิ่งใหญ่ตามแบบตะวันตก รัฐบาลเมจิได้มีนโยบายเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมทันที เพราะเห็นว่าประเทศตะวันตกนั้นร่ำรวยมั่งคั่งจนเป็นจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจอันเป็นเครื่องเกื้อกูลต่อการพัฒนาทางการทหาร ซึ่งญี่ปุ่นปรารถนาจะมีสถานะแบบเดียวกัน สิ่งนี้จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นได้ผิดแผกแตกต่างจากเพื่อนบ้านชาวเอเชียอื่นๆที่ยังคงพัฒนาการเกษตรให้ทันสมัยก่อนที่จะก้าวไปสู่ขั้นของการอุตสาหกรรม และความแตกต่างนี่จึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงการที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พัฒนาด้านเศรษฐกิจไปก่อนประเทศเพื่อนบ้านอย่างรวดเร็วมาก

รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักเสมอว่าหากตนต้องการความเสมอภาคกับตะวันตก ก็จะได้มาด้วยความเข้มแข็งทางการทหารและมั่งคงทางเศรษฐกิจ มีวิทยาการทางเทคโนโลยีจากตะวันตก ซึ่งญี่ปุ่นจะต้องทำได้ด้วยตนเอง กลุ่มผู้นำรัฐบาลเมจิจึงสนับสนุนและช่วยเหลือทุกวิถีทางต่อการลงทุนของเอกชนทั้งทางอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา การธนาคารและธุรกิจการค้าต่างๆ ในยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสากรรมนั้น ญี่ปุ่นเริ่มอุตสาหกรรมการต่อเรือเพื่อออกเดินเรือค้าขายแข่งขันกับต่างประเทศและเสริมกำลังกองทัพเรือควบคู้ไปด้วย บริเวณที่มีกองเรือคับคั่งอยู่ที่บริเวณ โยโกสุงะ มิโตะ ฮิเซนและซัทสึมะ ปรากฏว่าญี่ปุ่นสามารถต่อเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ชื่อ กันรินมารุ บรรทุกทหารและคณะทูตข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังสหรัฐอเมริกาได้ นอกจากนั้นก็มีโรงงานสรรพาวุธที่ผลิตปืน กระสุน และดินปืนได้เอง โดยไม่ยอมใช้ผู้ช่วยเหลือชาวต่างชาติเลย ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศ

ในด้านการพัฒนาทางคมนาคมนั้น ญี่ปุ่นสามารถทำได้สำเร็จในทศวรรษ 1870 มีการเปิดทำการเกี่ยวกับโทรเลขขึ้นปี ค.ศ 1869 ได้เป็นครั้งแรกโดยติดต่อกันระหว่างโตเกียวกับโยโกฮามะ เริ่มการไปรษณีย์ในปี ค.ศ. 1871 ก่อตั้งบริษัทเดินเรือทะเลและเปิดทางรถไฟสายแรกระหว่างโตเกียวและโยโกฮามะในปี ค.ศ. 1872 หลังจากนั้นก็ขยายกิจการคมนาคมติดต่อไปทั้งหมู่เกาะญี่ปุ่นในระยะเวลาอันสั้น ความก้าวหน้าทางการรถไฟนั้นมีมากจนกลายเป็นธุรกิจทั้งของรัฐและเอกชน สำหรับการเดินเรือข้ามมหาสมุทรนั้น ญี่ปุ่นก็แข่งขันกับชาวต่างชาติจนต้องถอนตัวออกไปจากญี่ปุ่นในที่สุด สำหรับเส้นทางสายตะวันออกไกลการเดินเรือทะเลเป็นกิจกรรมที่เฟื่องฟูมากในทศวรรษ 1890 กล่าวกันว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นสามารถมีระวางเรือหนัก 6,000,000 ตัน ซึ่งจัดอยู่ในอันดับสามของโลก

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังสามารถสร้าง "รถไฟฟ้า" ขึ้นแทนรถลาก รถม้าและเกวียนใช้เดินทางไปสะดวกรวดเร็วในประเทศในปี ค.ศ. 1896 และในปี ค.ศ. 1920 ก็มีการใช้รถยนต์กันทั่วไป ในปี ค.ศ. 1910 ก็มีเครื่องบินลำแรกของตนที่ผลิตเอง ได้มีบริษัทการบินขึ้นพัฒนาการคมนาคมทางอากาศในปี ค.ศ. 1928 สำหรับโทรศัพท์นั้นมีใช้ในปี ค.ศ. 1889 ซึ่งนับว่าต้นศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้าทันสมัยในการคมนาคมทุกๆด้าน คือทั้งทางบก ทางเรือและอากาศ

มารูโนอูจิ สำนักงานใหญ่ของบริษัทมิตซูบิชิ หนึ่งในกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไซบัตสึ ก่อนปี ค.ศ. 1923

ด้านอุตสาหกรรมเบาพวกเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อลดการเสียเปรียบดุลย์การค้ากับต่างประเทศ จึงมีการสนับสนุนการผลิตขึ้นใช้ในประเทศ ทั้งยังส่งออกแข่งขันกับต่างประเทศด้วย ที่สำคัญได้แก่การให้การสนับสนุนต่อนายทุนในธุรกิจสิ่งทอทั้งด้านวิชาการและการเงิน โดยให้ซื้อเครื่องจักรและโรงงานต่อจากรัฐบาลในลักษณะเงินผ่อนที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ทำให้ธุรกิจสิ่งทอเจริญก้าวหน้ารวดเร็วจนเป็นอุตสาหกรรมที่ล้ำหน้าที่สุด ทั้งการีวมกลุ่มกันของนายทุนธุรกิจสิ่งทอก็ยิ่งทำให้มีฐานะเศรษฐกิจที่มั่นคงและสามารถควบคุมความได้เปรียบในตลาดการค้าต่างประเทศได้ด้วย จนญี่ปุ่นเริ่มมีดุลย์การค้าได้เปรียบชาวต่างชาติในปี ค.ศ. 1880 เป็นต้นมาทำให้ญี่ปุ่นค่อยๆเข้าควบคุมตลาดในเอเชียมากสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอ

รัฐบาลสามารถพัฒนาสังคมธุรกิจการค้าได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน ผู้นำรัฐบาลเองยังกล้าที่จะริเริ่มงานสำคัญในการลงทุนใหม่ๆ เพราะต่างก็มีความเป็นชาตินิยมและความทะเยอทะยานส่วนตัว พวกผพ่อค้าที่ร่ำรวยจากการค้าขายสมัยโทกูงาวะได้เปลี่ยนท่าทีขยายการลงทุนในกิจการอื่นๆ ได้มีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับกลุ่ม บริษัทนายทุนยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียง มีการรวมตัวเป็นกลุ่มทางธุรกิจขนาดใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ กลุ่มไซบัตสึ (เช่น: มิตซุย, มิตซูบิชิ, ฮิตาชิ, โตชิบาและโตโยต้า) พวกไซบัตสึล้วนเป็นพ่อค้าที่เป็นมหาเศรษฐีและเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจ บางตระกูลได้ติดต่อทำธุรกิจให้แก่ภาครัฐบาลทางด้านการธนาคาร รับซื้อและขายทางธุรกิจอุตสาหกรรมของรัฐบาล รวมถึงการจัดซื้อหรือผลิตอาวุธให้รัฐบาล บางกลุ่มยังได้รับการอนุเคราะห์ทางด้านสินเชื่อจากรัฐบาลโดยตรงอีกด้วย นอกจากนี้กลุ่มบริษัทไซบัตสึยังเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการสนับสนุนให้ญี่ปุ่นทำสงครามขยายดินแดนล่าอาณานิคมเพื่อที่จะได้แหล่งระบายสินค้าและแหล่งวัตถุดิบเพิ่มขึ้น

พัฒนาการด้านการทหาร

เครื่องแบบทหารสมัยใหม่ของกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นแบบสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก

จากปี 1867 ญี่ปุ่นได้มีนโยบายให้กองทัพทหารต่างๆ ของญี่ปุ่นช่วยเหลือกองทัพญี่ปุ่นปฏิรูประบบให้ทันสมัย ภารกิจทางไปศึกษาดูงานด้านการทหารในต่างประเทศครั้งแรกในญี่ปุ่นจัดขึ้นที่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1867

ในปี ค.ศ. 1871 นักการเมืองชื่อดังอิวาคูระ โทโมะมิและโอกูโบะ โทชิมิจิ นำองค์กรของกองทัพแห่งชาติที่ประกอบไปด้วยซามูไรที่แข็งแกร่ง 10,000 คน เริ่มฝึกและเรียนรู้ระบบการทหารแบบตะวันตก โอกูโบะยังเป็นซามูไรแห่งแคว้นซัตสึมะและเขาเป็นหนึ่งใน สามขุนนางผู้ยิ่งใหญ่แห่งการฟื้นฟูและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักของญี่ปุ่นสมัยใหม่[15] ในปี ค.ศ. 1873, รัฐบาลของจักรวรรดิเสนอถึงการแต่งตั้งตำแหน่งราชการใหม่หรือ รัฐมนตรีว่าการสงคราม โดยมีเจ้าชายยามางาตะ อาริโตโมะทรงเป็นผู้บุกเบิกเพื่อจัดทัพกองทัพญี่ปุ่น ดังนั้นยามางาตะจึงโน้มน้าวรัฐบาลและตรากฎหมายการเกณฑ์ทหารในปี 1873 ซึ่งจัดตั้งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นขึ้นใหม่ กฎหมายจัดตั้งการรับราชการทหารสำหรับผู้ชายทุกชนชั้นเป็นระยะเวลา 3 ปีและเพิ่มอีก 4 ปีในสถานะกำลังสำรอง ยามางาตะได้ปรับปรุงและสร้างแบบจำลองใหม่โดยยึดตามแบบจากกองทัพปรัสเซีย เจ้าชายยามางาตะยังทรงเป็นจอมพลในกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นและทรงดำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถึงสองสมัย ทรงเป็นหนึ่งในสถาปนิกหลักของฐานทัพทหารและการเมืองของญี่ปุ่นยุคแรกและถือได้ว่าทรงเป็น "พระบิดาแห่งกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น" และลัทธิทหารนิยมญี่ปุ่น[16][17]

ด้านกองทัพเรือ กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1869 ในช่วงทศวรรษที่ 1870 และ 1880 กองทัพเรือญี่ปุ่นยังคงเป็นกองกำลังป้องกันชายฝั่งทะเลแม้ว่ารัฐบาลเมจิจะยังคงปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ในปี ค.ศ. 1870 ขณะที่ญี่ปุ่นยึดถือแบบอย่างกองทัพบกตามแบบกองทัพปรัสเซีย ส่วนกองทัพเรือญี่ปุ่นเลือกที่จะยึดแบบอย่างตามกองทัพเรืออังกฤษ ได้มีการออกพระราชกฤษฎีการะบุว่ากองทัพเรืออังกฤษควรเป็นแบบอย่างในการพัฒนาและภารกิจเรืออังกฤษครั้งที่สองไปญี่ปุ่น, ภารกิจดักลาส (1873-79) มีที่ปรึกษาจากอังกฤษคือ อาร์ชิบัลด์ ลูเซียสดักลาสช่วยวางรากฐานการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทหารเรือและการศึกษาแก่กองทัพเรือญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยมีโทโง เฮฮาจิโร ผู้ได้รับการศึกษาจากกองทัพเรือราชนาวีอังกฤษเป็นผู้บุกเบิกกิจการกองทัพเรือแห่งจักรวรรดิ ซึ่งโทโงถือเป็น "บิดาแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น" ในเวลาต่อมา

การล่าอาณานิคมและการแผ่ขยายอิทธิพลของญี่ปุ่น

เค้าโครงนโยบายล่าอาณานิคมของญี่ปุ่น

*จักรวรรดิญี่ปุ่น (เกาะญี่ปุ่น)      (สีเขียวเข้ม)
ดินแดนที่ญี่ปุ่นต้องการมาเป็นอาณานิคมในช่วงแรกประกอบไปด้วย:
*เกาหลี (ราชวงศ์โชซ็อน      (สีเขียวอ่อน)
*เกาะไต้หวัน      (สีเหลือง)
*ครึ่งใต้ของเกาะซาฮาลิน      (สีฟ้า)

งานของเราก็คือ การทำสงครามเพื่อความถูกต้องและจรรโลงสิ่งที่ดีเพื่อว่าจะได้ไม่มีใครเกิดเสียใจอย่างสุดซึ้ง ในเมื่อญี่ปุ่นได้สามารถดำรงตำแหน่งฐานะที่สมควรแก่ความสามารถของตน ท่ามกลางประชาชาติทั้งหลายแห่งโลกเรานี้

อิโต ฮิโรบูมิ[18]

สถาบันทหารของญี่ปุ่นในยุคเร่งสร้างชาติมีฐานอำนาจสูงมากในระบบการเมืองของประเทศ เป็นอิสระทั้งจากรัฐบาลและรัฐสภา แต่ขึ้นตรงต่อองค์จักรพรรดิ์เท่านั้น นับเป็นรูปแบบของพัฒนาการทหารของญี่ปุ่นสมัยเมจิ ญี่ปุ่นได้ถือว่าการกระทำของชาติตะวันตกเป็นบรรทัดฐานของการดำเนินการพัฒนาประเทศ การที่ประเทศตะวันตกถือนโยบายจักรวรรดินิยมโดยการล่าอาณานิคมเป็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นสากลจึงทำให้ญี่ปุ่นเชื่อในความชอบธรรมของตนที่จะดำเนินการขยายอำนาจพร้อมที่จะรุกรานประเทศอื่น

สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง

กองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นขับไล่กองทัพราชวงศ์ชิงจากดินแดนเกาหลีกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดป้อมของราชวงศ์ชิงที่เหลียวตง

สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง เป็นแผนการความประสงค์ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นต้องการแผ่ขยายอำนาจออกไปนอกประเทศ โดยต้องการเข้าควบคุมและมีอิทธิพลเหนือเกาหลีของราชวงศ์โชซ็อน ความขัดแย้งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1894 และ 1895 เกาหลีซึ่งได้เคยเป็นรัฐบรรณาการของจีน (ราชวงศ์ชิง)อย่างยาวนานทำให้จีนมีอิทธิพลอย่างมากต่อขุนนางราชสำนักที่เกาหลีฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีส่วนรายล้อมใกล้ชิดราชวงศ์ของโชซ็อน ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1876 หลังจากเกาหลีดำเนินการผิดประเทศโดดเดี่ยวก็ได้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยญี่ปุ่นได้ออกสนธิสัญญาญี่ปุ่น-เกาหลี ค.ศ. 1876 บังคับให้เกาหลีเปิดการค้าขายกับญี่ปุ่น การกระทำดังกล่าวขัดขวางอำนาจอื่นใดจากการครอบครองเกาหลีโดยตัดสินใจยุติอิทธิพลของจีนต่ออธิปไตยของเกาหลีที่มียาวนานหลายศตวรรษ

ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1894 เกาหลีขอความช่วยเหลือจากราชวงศ์ชิงในการปราบปรามการกบฏตงฮัก ราชสำนักชิงส่งทหาร 2,800 นายไปช่วยเกาหลีปราบกบฏ ญี่ปุ่นเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ฝ่ายญี่ปุ่นจึงตอบโต้ด้วยการส่งกองทัพไปยังเกาหลีเพื่อคานอำนาจกับจีน ประกอบด้วยกองทัพเดินทาง 8,000 กลุ่ม (กลุ่มกองพลผสมโอชิมะ) ไปยังประเทศเกาหลี ทหาร 400 คนแรกมาถึงเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนระหว่างทางไปที่โซลและ 3,000 นายที่อินชอน ในวันที่ 12 มิถุนายน[19] ราชสำนักชิงหันข้อเสนอแนะของญี่ปุ่นสำหรับญี่ปุ่นและจีนเพื่อร่วมมือในการปฏิรูปเกาหลี เมื่อเกาหลีเรียกร้องให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกจากเกาหลี ญี่ปุ่นก็ปฏิเสธในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1894 กองทหารญี่ปุ่น 8,000 นายได้จับกุมพระเจ้าโกจงกษัตริย์ของเกาหลีเป็นองค์ประกันและครอบครองพระราชวังเคียงบก ในกรุงโซลและเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ญี่ปุ่นได้จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดในกรุงโซลที่นิยมญี่ปุ่น รัฐบาลเกาหลีใหม่ที่นิยมญี่ปุ่นได้ให้สิทธิ์แก่ญี่ปุ่นในการขับไล่กองกำลังราชวงศ์ชิงในขณะที่ญี่ปุ่นส่งกองทหารเพิ่มเติมไปยังเกาหลี

ฝ่ายจีนราชวงศ์ชิงได้คัดค้านและประกาศสงคราม ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่งขึ้น กองกำลังภาคพื้นดินของญี่ปุ่นถูกส่งไปล้อมและทำลายกองกำลังจีนไปที่คาบสมุทรเหลียวตงและเกือบทำลายกองทัพเรือจีนในการต่อสู้ยุทธนาวีที่แม่น้ำยาลูอย่างราบคาบ

จีนที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของจักรวรรดิญี่ปุ่นได้มีการลงนามระหว่างผู้แทนจีนและญี่ปุ่นมีข้อตกลงว่าจีนจะต้องยอมยกดินแดนคาบสมุทรเหลียวตงและเกาะไต้หวันให้แก่ญี่ปุ่น หลังสนธิสัญญาดังกล่าวได้มีการลงนาม รัสเซีย, เยอรมนี, ฝรั่งเศสร่วมตัวกันเป็นพันธมิตรสามชาติกดดันให้ญี่ปุ่นถอนทัพออกจากคาบสมุทรเหลียวตง หลังจากนั้นรัสเซียในไม่ช้าก็เข้ายึดคาบสมุทรเหลียวตงเสียเอง และสร้างฐานทัพเรือที่ป้อมปราการพอร์ต อาร์เธอร์และนำกองเรือรัสเซียแปซิฟิกมาประจำการที่ท่าเรือดังกล่าว ส่วนเยอรมันก็ได้ยึดครองอ่าวเจียวโจวสร้างท่าเรือและฐานทัพเรือที่ป้อมปราการชิงเต่าและนำกองเรือเยอรมันประจำเอเชียตะวันออกมาประจำที่ท่าเรือ

ทั้งหมดสร้างความไม่พอใจแก่ญี่ปุ่นเป็นอย่างมากเนื่องจากชาติทั้งสามเข้ามาขวางมิให้ญี่ปุ่นเข้าไปมีอิทธิพลในจีนและครอบครองดินแดนของจีนแทนที่ตน จักรวรรดิญี่ปุ่นจึงเตรียมก่อสงครามคอยหาโอกาสเพื่อตอบโต้อีกครั้ง

สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น

ดูบทความหลักที่: สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
กองพลไรเฟิลญี่ปุ่นโจมตียึดที่มั่นของกองทัพจักรวรรดิรัสเซีย ค.ศ. 1904ทหารญี่ปุ่นในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นพอร์ตอาร์เธอร์หลังการปิดล้อมพอร์ตอาร์เธอร์มองจากด้านบนของโกลด์ฮิลล์หลังจากการยอมจำนนในปี ค.ศ. 1905 เต็มไปด้วยซากเรือรบรัสเซียที่ถูกทำลาย

จักรวรรดิญี่ปุ่นต้องการเข้าไปมีอิทธิพลในเกาหลีอีกครั้งและยังขยายความทะเยอทะยานหมายครอบครองดินแดนแมนจูเรียของจีนด้วย ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นซึ่งเป็นความขัดแย้งในเข้ามามีอิทธิพลควบคุมของเกาหลีและบางส่วนของแมนจูเรียระหว่างจักรวรรดิรัสเซียและจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1904 ถึง ค.ศ. 1905 สงครามถูกทำสร้างประเด็นโดยการคัดค้านของญี่ปุ่นเกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัสเซียในดินแดนเกาหลีและแมนจูเรียของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคาบสมุทรเหลียวตงที่ควบคุมโดยเมืองท่าเรือพอร์ตอาร์เธอร์

ในขั้นต้นในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิได้มีการระบุให้พอร์ตอาร์เธอร์ตกเป็นของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งของสนธิสัญญานี้ถูกคัดค้านโดยมหาอำนาจตะวันตกซึ่งได่มีมติรวมกันให้ยกท่าเรือดังกล่าวแก่จักรวรรดิรัสเซียเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของรัสเซียในภูมิภาค ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้มีความขัดแย้งกับผลประโยชน์ของญี่ปุ่นอย่างมีนัยยะสำคัญ สงครามเริ่มต้นด้วยการที่ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเปิดฉากจู่โจมอย่างรวดเร็วต่อกองเรือรัสเซียตะวันออกที่ประจำอยู่ที่ท่าเรืออาร์เธอร์ซึ่งตามมาด้วยการปิดล้อมพอร์ตอาร์เธอร์ส่งผลให้กองทัพทหารเรือรัสเซียที่พยายามหลบหนีนั้นพ่ายแพ้อย่างย่อยยับโดยกองทัพเรือญี่ปุ่นภายใต้การนำของพลเรือเอกโทโง เฮฮาจิโรที่ยุทธนาวีทะเลเหลือง หลังจากนั้นจักรวรรดิรัสเซียจึงตัดสินใจตอบโต้ญี่ปุ่นโดยส่งกองเรือบอลติกในยุโรปมาสกัดกั้นทัพเรือญี่ปุ่น แต่กองทัพเรือบอลติกของรัสเซียกลับถูกปฏิเสธไม่ให้ผ่านทางควบคุมคลองสุเอซของอังกฤษทำให้กองทัพเรือรัสเซียต้องเดินทางอ้อมทวีปและเมื่อกองทัพเรือมาถึงสมรภูมิทางทะเลในอีกหนึ่งปีต่อมาแต่ก็ถูกกองทัพเรือญี่ปุ่นดักทำลายในยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะอีกครั้ง ในขณะที่สงครามภาคพื้นดินไม่ได้ทำให้คุณภาพของรัสเซียแย่ลงแต่กองทัพญี่ปุ่นก็มีความก้าวร้าวมากกว่ารัสเซียและได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองจากการเจรจากับสหรัฐอเมริกาในสนธิสัญญาพอร์ตสมัทกับประธานาธิบดีอเมริกา ธีโอดอร์ รูสเวลต์

สงครามกับรัสเซียจบลงด้วยชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นทำให้ญี่ปุ่นมีอิทธิพลในการเมืองระดับโลกมากขึ้น อีกทั้งยังผลให้รัสเซียสูญเสียส่วนหนึ่งของเกาะซาฮาลิน เกาะทางใต้ของละติจูดที่50 องศาเหนือ (ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจังหวัดคาราฟูโตะของญี่ปุ่น) เช่นเดียวกับสิทธิ้หนือทรัพยากรแร่ธาตุมากมายในแมนจูเรีย นอกจากนี้ความพ่ายแพ้ของรัสเซียยังช่วยเปิดช่องทางให้ญี่ปุ่นมีโอกาสสามารถบังคับราชวงศ์โชซ็อนให้ทำสนธิสัญญาผนวกดินแดนญี่ปุ่น–เกาหลีในปี ค.ศ. 1910

การยึดครองเกาหลี

เมื่อญี่ปุ่นได้ชัยชนะในสงครามทั้งสองครั้งทำให้จีนและรัสเซียยอมรับอิทธิพลของญี่ปุ่นเหนือดินแดนเกาหลี เมื่อไม่มีชาติใดคัดค้านและช่วยเหลือเกาหลีได้ ญี่ปุ่นจึงเริ่มการลอบปลงพระชนม์พระมเหสีหรือจักรพรรดินีมย็องซ็อง (เมียงซอง) แห่งโชซ็อน เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเศร้าสะเทือนใจและเคียดแค้นแก่ชาวเกาหลีเป็นอันมาก หลังจากนั้นญี่ปุ่นได้เริ่มผนวกเกาหลีเข้าเป็นดินแดนของตนตามสนธิสัญญาผนวกดินแดนญี่ปุ่น–เกาหลีเมื่อปี ค.ศ. 1910 ซึ่งสนธิสัญญานี้เป็นที่ยอมรับของญี่ปุ่นฝ่ายเดียว แต่ไม่เป็นที่ยอมรับทางฝ่ายเกาหลี เพราะถือว่าไม่มีการลงนามของจักรพรรดิเกาหลี ดินแดนเกาหลีจึงครอบครองและถูกประกาศให้เป็นรัฐในอารักขาของญี่ปุ่น (มีสถานะเทียบเท่าอาณานิคม) นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในระหว่างการปกครองของญี่ปุ่น มีการสร้างระบบคมนาคมแบบตะวันตก แต่ส่วนใหญ่เพื่อประโยชน์ทางการค้าของญี่ปุ่นมากกว่าประโยชน์ของชาวเกาหลี ญี่ปุ่นล้มล้างราชวงศ์โชซ็อน ทำลายพระราชวัง ปรับปรุงระบบภาษี ให้ส่งข้าวจากเกาหลีไปญี่ปุ่น ทำให้เกิดความอดอยากในเกาหลี มีการใช้แรงงานทาสในการสร้างถนนและทำเหมืองแร่

หลังการสวรรคตของพระเจ้าโกจงแห่งเกาหลี เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 ด้วยยาพิษ ทำให้เกิดการเรียกร้องเอกราชทั่วประเทศ เมื่อ 1 มีนาคม ค.ศ. 1918 ผลจากการลุกฮือขึ้นเรียกร้องเอกราชทำให้ชาวเกาหลีราว 7,000 คนถูกฆ่าโดยทหารและตำรวจญี่ปุ่น ชาวคริสต์เกาหลีจำนวนมากถูกฆ่าหรือเผาในโบสถ์ระหว่างการเรียกร้องเอกราชมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลของเกาหลีที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน หลังจากการเคลื่อนไหว 1 มีนาคม เพื่อต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น

การลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นยังมีอยู่ต่อไป เช่น การลุกฮือของนักศึกษาทั่วประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1929 จนนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกเมื่อ ค.ศ. 1931 ในปี ค.ศ. 1937 ญี่ปุ่นพยายามลบล้างความเป็นชาติของเกาหลี โดยการห้ามสอนประวัติศาสตร์และภาษาเกาหลีในโรงเรียน การแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เป็นเกาหลีถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ชาวเกาหลีถูกบังคับให้มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น[20] สิ่งของมีค่าถูกนำออกจากเกาหลีไปยังญี่ปุ่น[21] หนังสือพิมพ์ถูกห้ามตีพิมพ์ด้วยภาษาเกาหลี หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จำนวนมากถูกเผาทำลาย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวเกาหลีถูกบังคับให้ร่วมมือกับญี่ปุ่น และมีชายชาวเกาหลีอีกจำนานมากที่ถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมในกองทัพญี่ปุ่น[22] ผู้หญิงจากจีนและเกาหลีราว 200,000 คน ถูกส่งตัวไปเป็นนางบำเรอของทหารญี่ปุ่น[23]

ทำให้ชาวเกาหลีจำนวนมากอพยพออกจากเกาหลีไปสู่แมนจูเรียและรัสเซีย ชาวเกาหลีในแมนจูเรียจัดตั้งขบวนการกู้เอกราชชื่อ “ดุงนิปกุน” (Dungnipgun) ขบวนการนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ทำสงครามกองโจรกับกองทัพญี่ปุ่น กองทัพเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นกองทัพปลดปล่อยเกาหลี เมื่อราว พ.ศ. 2483 เคลื่อนไหวในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวเกาหลีกว่าหมื่นคนเข้าร่วมในกองทัพปลดปล่อยประชาชนและกองทัพปฏิวัติแห่งชาติ

ใกล้เคียง

จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิบริติช จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิมองโกล จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จักรวรรดิโรมัน จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล: เฟสสอง จักรวรรดิรัสเซีย

แหล่งที่มา

WikiPedia: จักรวรรดิญี่ปุ่น http://www.boston.com/news/nation/washington/artic... http://archives.cnn.com/2001/WORLD/asiapcf/east/03... http://findarticles.com/p/articles/mi_qa3693/is_20... http://news.naver.com/news/read.php?mode=LSD&offic... http://history.hanover.edu/texts/1889con.html http://www.mofa.go.jp/mofaj/annai/honsho/shiryo/qa... http://www.city.tsuruga.lg.jp/sypher/free/kk-museu... http://www.comfort-women.org/ https://books.google.com/books/about/A_History_of_... https://books.google.com/books?id=4N0oXNN7dcoC&pg=...